ดาวเทียมสื่อสารรัสเซีย-มะกันชนกันกลางอวกาศเหนือไซบีเรียด้วยความเร็วเกือบ 800 กม.ต่อชั่วโมง
นักวิทย์-นาซาชี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยันไม่กระทบสถานีอวกาศนานาชาติ และยานขนส่งอวกาศ เคลลี ฮัมฟรีย์ โฆษกองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) แถลงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ว่า ดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ของรัสเซียและสหรัฐได้พุ่งเข้าชนกันด้วยความเร็วสูงถึง 780 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหนือดินแดนไซบีเรียในรัสเซีย สูงขึ้นไปจากพื้นโลกเกือบ 805 กิโลเมตร นับเป็นการชนกันของดาวเทียมในวงโคจรของโลกเป็นครั้งแรก แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการชนกันครั้งนี้ไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) และนักบินบนนั้น
นาซา ระบุว่าคงต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการหาสาเหตุของการชนกันครั้งนี้ แต่เชื่อว่าอันตรายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับไอเอสเอส และนักบินอวกาศทั้ง 3 คนบนนั้นต่ำมาก เพราะวงโคจรของไอเอสเอสต่ำกว่าตำแหน่งที่ดาวเทียมชนกันถึงประมาณ 435 กิโลเมตร อีกทั้งยังไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อยานขนส่งอวกาศ และนักบินอวกาศอีก 7 คนที่มีกำหนดจะถูกส่งขึ้นไปในอวกาศในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ด้วย แต่ก็จะต้องมีการประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง โดยกำลังติดตามทิศทางของเศษชิ้นส่วนต่างๆ อยู่
ดาวเทียมที่ชนกันครั้งนี้เป็นดาวเทียมพาณิชย์ของสหรัฐชื่อ อิริเดียม ที่ถูกปล่อยขึ้นเมื่อปี 2540 และดาวเทียมปลดระวางของรัสเซียที่ถูกปล่อยขึ้นไปตั้งแต่เมื่อปี 2536 โดยดาวเทียมอิริเดียม มีน้ำหนัก 560 กิโลกรัม ส่วนดาวเทียมรัสเซียหนักเกือบ 1 ตัน ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีเศษเล็กเศษน้อยที่เกิดจากการชนกันมากมายเพียงใด หรือมีขนาดใหญ่แค่ไหน แต่ถ้านับเฉพาะเศษชิ้นส่วนที่ขนาดเล็กมากจนต้องใช้กล้องขยายส่องก็น่าจะมีหลายพันชิ้น ขณะที่สภาพอากาศบริเวณที่ชนนั้นต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าฝุ่นจะจางลง
ทั้งนี้ เคยเกิดกรณีวัตถุในอวกาศชนกันโดยอุบัติเหตุมาแล้ว 4 ครั้ง แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย
ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนของจรวดหรือดาวเทียมขนาดเล็กที่หลุดออกมาตอนที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร
นายนิโคลัส จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านซากชิ้นส่วนในวงโคจรในอวกาศ ที่ศูนย์อวกาศฮุสตัน ให้ความเห็นว่า การชนกันครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียมสองดวงคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และดาวเทียมสำรวจโลกที่โคจรอยู่สูงกว่า และใกล้กับตำแหน่งที่มีการชนกันมากกว่าดาวเทียมดวงอื่น
ด้าน บริษัท อิริเดียม ซึ่งมีดาวเทียมอยู่ 65 ตัว ให้บริการรับถ่ายทอดสัญญาณจากโทรศัพท์พกพาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามือถือปกติ 2 เท่า และมีลูกค้ากว่า 3 แสนราย หนึ่งในนั้นคือ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า ลูกค้าอาจเจอสภาวะระบบล่มเป็นการชั่วคราวก่อนที่บริษัทจะแก้ปัญหาได้ภายในวันศุกร์ และคาดว่าจะนำดาวเทียมดวงอื่นมาทำงานแทนที่ดาวเทียมที่ชนไปภายใน 30 วัน
รายงานเผยด้วยว่า ดาวเทียมอิริเดียมส่วนใหญ่นั้นมีวงโคจรที่ผิดแผกจากปกติคือมีวงโคจรที่ต่ำ และโคจรด้วยความเร็วสูงมาก ขณะที่ดาวเทียมเพื่อการสื่อสารส่วนใหญ่มักจะมีวงโคจรสูงกว่านี้ และไม่เคลื่อนที่สัมพันธ์กัน ดังนั้น การชนกันของดาวเทียมจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก ขณะที่บริษัทอิริเดียมยืนยันว่า การชนกันเป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างมาก และย้ำว่าไม่ใช่การทำงานผิดพลาดของดาวเทียมตัวเอง
ขณะที่ รอสคอสมอส สำนักงานอวกาศของรัสเซีย ยืนยันว่า ดาวเทียมอิริเดียมชนกับดาวเทียมปลดระวางของรัสเซียจริง โดยดาวเทียมนี้เป็นดาวเทียมที่เชื่อว่าจะใช้งานด้านกิจการทหารในอดีต และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของรอสคอสมอส แต่ไม่ให้ความเห็นเรื่องดาวเทียมนี้ควบคุมไม่ได้หรือไม่ แต่จะสอบสวนภายหลัง
ทั้งนี้บริษัทอิริเดียมก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทโมโตโรลาเมื่อทศวรรษที่ 2533 และล้มละลายเมื่อปี 2542 ก่อนจะมีผู้ลงทุนเอกชนรายใหม่ก่อตั้งขึ้นอีกครั้งในปี 2544 ภายใต้ชื่อ อิริเดียม โฮลดิงส์