อุบัติเหตุต่าง ๆ บนท้องถนนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการขับรถกระชั้นชิดกันเกินไปในขณะที่ใช้ความเร็วสูง เมื่อรถคันหน้าเบรกกะทันหัน ทำให้รถคันหลังพุ่งชนด้านท้ายเนื่องจากเบรกไม่ทัน
จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจทางหลวงที่จะคอยสอดส่องดูแลไม่ให้รถวิ่งเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ ห้ามวิ่งเร็วกว่า ๙๐ กม. /ชม. แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ผ่อนผันให้เป็น ๑๐๐ กม. /ชม. ส่วนรถบรรทุกหรือรถโดยสารห้ามวิ่งเกิน ๖๐ กม. /ชม.
ในการตรวจจับความเร็วนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เครื่องตรวจจับความเร็วในระบบเรดาร์ที่เป็นแบบมือถือ ราคาเครื่องละประมาณ ๓๓,๐๐๐ บาท รูปร่างคล้ายเครื่องเป่าผมขนาดใหญ่ที่ใช้ในร้านเสริมสวย
วิธีการใช้เครื่องมือนี้เริ่มจากการเสียบสายไฟเข้ากับขั้วแบตเตอรี่หรือที่จุดบุหรี่ในรถยนต์ เปิดสวิตช์เครื่องก็จะทำงาน เมื่อต้องการตรวจจับความเร็วรถคันใดก็ยิงเรดาร์ไปที่รถนั้น ตัวเลข (ระบบดิจิตอล) ก็จะขึ้นที่หน้าปัด
ข้อจำกัดของการใช้เครื่องตรวจจับความเร็วแบบนี้คือ ใช้ได้ในระยะไม่เกิน ๙๐๐ เมตร และขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจจับความเร็วรถคันใด ก็ต้องจำเลขทะเบียนและลักษณะรถเอาไว้เพื่อวิทยุไปบอกหน่วยดักจับข้างหน้า ในบางครั้งอาจเกิดปัญหาอย่างเช่นผู้ขับขี่อ้างว่าไม่ได้ใช้ความเร็วเกินกำหนด บ้างก็กล่าวหาการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าไม่ถูกต้อง
ส่วนกรณีที่มีผู้ขับขี่บางคนนำเครื่องตรวจจับเรดาร์มาใช้ดักสัญญาณของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้รู้ตัวล่วงหน้าได้ว่าจะมีการตรวจจับความเร็วก็จะลดความเร็วลงนั้น อาจมีอยู่บ้างแต่ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่สูงเกินจำเป็น ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่จะส่งสัญญาณบอกกันว่าข้างหน้ากำลังมีการตรวจจับความเร็ว ใครที่ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนดก็จะลดความเร็วลง เป็นอันรอดพ้นการถูกปรับไปได้สัญญาณที่ว่าคือการกะพริบไฟส่งเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ขับขี่
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในอิสราเอล เนื่องจากประเทศอิสราเอลมีการใช้เครื่องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ ควบคุมการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือนี้มีชื่อว่า 'มารอน' เป็นเครื่องที่ออกแบบเพื่อใช้วัดอัตราความเร็วที่รถยนต์แต่ละคันวิ่งอยู่รวมทั้งวัดช่วงระยะที่ขับห่างจากรถคันที่อยู่ข้างหน้าด้วย
การวัดอัตราความเร็วของรถนั้น เครื่อง 'มารอน' ใช้ลำแสงอินฟราเรดเพื่อให้สะท้อนสัญญาณมาที่เครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้ามีรถยนต์คันใดปฏิบัติผิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คอมพิวเตอร์ก็จะสั่งให้กล้องถ่ายรูปรถและทะเบียนของรถคันนั้นเอาไว้ทันที หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะพิมพ์ใบสั่งเพื่อแจ้งไปยังผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎให้ได้ทราบความผิดภายในเวลาไม่กี่วัน
เครื่องมือระบบอิเล็กโตรออฟติกนี้ เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพให้สูงกว่าระบบเดิมที่ใช้เรดาร์ การทำงานก็สะดวกรวดเร็วเพียงแค่นำเครื่องนี้ไปติดเอาไว้ตามถนนสายต่าง ๆ ก็ไม่มีทางว่ารถคันใดจะหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบไปได้ อีกทั้งการตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน
เครื่องมือนี้จึงมีผลในเชิงบังคับให้ผู้ขับขี่หันมาขับรถด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดจะทำให้ลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คนลงได้มาก ทราบมาว่าประเทศอังกฤษก็ใช้เครื่องมือนี้อย่างได้ผลเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ
สำหรับในประเทศไทย กรมทางหลวงมีโครงการที่จะเปลี่ยนเครื่องตรวจจับความเร็วจากระบบที่บอกความเร็วรถยนต์แต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นระบบที่บอกเลขทะเบียนรถด้วย แต่จะเป็นแบบเดียวกับเจ้า 'มารอน' หรือไม่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ ทว่าจะมีใช้แน่ ๆ ในอนาคต บรรดานักซิ่งทั้งหลายโปรดเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดีก็แล้วกัน
ที่มา
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
และ SANOOK.com