เทศกาลท่องเที่ยวแม่น้ำโขง รับตะวันก่อนใครในสยาม ครั้งที่ 7
ความหลากหลาย และคุ้มค่า ณ ดินแดนด้านตะวันออกสุดสยาม
จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขอเชิญค้นหาและเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว ตลอด 62 วันของการเฉลิมฉลองส่งรับตะวันแห่งปี ณ ดินแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านตะวันออกสุดของประเทศไทย ที่อุดมด้วยแหล่งท่องเที่ยวเปี่ยมศักยภาพอันหลากหลาย และบริการอำนวยความสะดวกมากมาย
6 แหล่งท่องเที่ยวหลัก
แหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงด้านตะวันออกสุดสยามที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และเหมาะสมที่จะไปชื่นชมในช่วงเวลานี้จำนวน 6 แหล่ง คือ
1. เยือนหมู่บ้านหมอลำชมวัฒนธรรมอำนาจเจริญ ได้แก่ หมู่บ้านปลาค้าว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีคณะหมอลำมากที่สุดในประเทศไทย มีการอนุรักษ์ศิลปะหมอลำ ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ อันเป็นเอกลักษณ์พื้นบ้านไว้อย่างดียิ่ง และมีระบบการจัดการนำเที่ยวที่ดี
2. ทุ่งดอกไม้งามตามรอยเสด็จ ได้แก่ ทุ่งดอกหญ้าบริเวณเหนือน้ำตกสร้อยสวรรค์ในอุทยานแห่งชาติ ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
3. พิชิตผาชนะได้รับตะวันใหม่ก่อนใครในสยามที่ป่าดงนาทาม ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ประเภทเดินป่า แค้มปิ้งที่ป่าดงนาทาม อุทยานแห่งชาติป่าแต้ม อ.โขงเจียม ซึ่งเป็นจุดตะวันออกสุดของประเทศไทย
4. ศิลปะถ้ำผืนยาวสุดสยามที่ผาแต้ม ได้แก่ ภาพเขียนสีศิลปะถ้ำอายุกว่า 3,000 ปี ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม
5.โรแมนติกแม่น้ำโขงที่โขงเจียม ได้แก่ ตัวอำเภอโขงเจียม ซึ่งเป็นจุดบรรจบกับแม่น้ำโขงกับ แม่น้ำมูลที่มีทิวทัศน์งดงาม มีที่พักหรูหราหลากหลายระดับและสามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงจุดอื่น ๆ ได้อย่างคุ้มค่า
6. แม่น้ำโขงมหัศจรรย์ที่สองคอน-สามพันโบก ได้แก่ บริเวณริมโขงที่บ้านสองคอน ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ที่มีลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ช่องแคบสุดของแม่น้ำโขง หาดสลึง เกาะหินหัวเนียง และสามพันโบก
หลากหลายกิจกรรม
1. พิธีต่อแสงตะวันที่ลานผาแต้ม ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ระหว่างเวลา 16.00-18.00 น. และวันที่ 1 มกราคม 2550 ระหว่างเวลา 05.00-06.30 น. แนวคิดของการจัดกิจกรรม เป็นพิธีการสืบต่อแสงตะวันสุดท้ายของปี 2550 และแสงแรกของปี 2551 ด้วยพิธีการศักดิ์สิทธิ์ทั้งแบบพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์โดยใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นคือวัฒนธรรมชุมชนชาวบรูและแสงเทียน รายละเอียดขั้นตอนพิธีการมีดังนี้
วันที่ 31 ธันวาคม 2550
16.00 น -17.00 น.
- มหกรรมพิณแคน กล่อมโขง ฟังการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านและการแสดงศิลปวัฒนธรรม พื้นบ้าน ของชุมชนริมโขงแห่งผาแต้ม
17.00 น.
- ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานในพิธีเดินทางมาถึงบริเวณพิธี
17.00 น. -17.15 น.
- พราหมณ์พื้นบ้านเริ่มพิธีบายศรีสู่ขวัญ ณ ลานหินผาแต้ม ( ใช้เวลา 15 นาที )
17.15 น.
- การกล่าวคำอำลาแสงศักราช 2550 ด้วยภาษาบูร โดยนักเรียนจากชุมชนริมโขงแห่งผา แต้ม 30 คน ( ใช้เวลา 5 นาที )
17.20 น.
- ชาวชุมชนริมโขงแห่งผาแต้มและนักท่องเที่ยวนำเทียนประทีปที่หล่อไว้ในกระบอกไม้ไผ่จำนวน 500 ดวงแทนความหมาย ปี 2550 ไปวางรายรอบแท่นสัญลักษณ์ใกล้กับป้ายหินผาแต้ม ( ใช้เวลาไม่เกิน 5-7 นาที )
17.27 น.( หรือเวลาที่พระอาทิตย์ตกดินในอุบลราชธานีตามพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา )
- ประธานในพิธีนำไฟไปจุดที่กระถางไฟรูปดอกบัวบนแท่นสัญลักษณ์เพื่อต่อแสงจาก ศักราชปี 2550 ไปสู่ปี 2551
- รัวกลองเส็งพื้นบ้านอุบล 1 คู่ ฆ้องใหญ่ 1 ใบ ( 15 วินาที ) นักเรียน 30 คน ขับร้องเพลงอุบลราชธานีโดยพื้นบ้านบรรเลงเพลงประกอบ
- สิ้นสุดพิธีการ
หมายเหตุ- หลังสิ้นสุดพิธีการให้เจ้าหน้าที่ดับเทียนประทีป 500 ดวง แต่ให้คงใว้เฉพาะกระถางไฟ บนแท่นสัญลักษณ์ ( ตลอดคืนหรืออาจจะดับหลังจากประธานเดินทางกลับแล้วจุดใหม่ในตอนก่อนรุ่งเช้า )
วันที่ 1 มกราคม 2550
05.00-05.45 น.
- บรรเลงเพลงเดี่ยวพิณ เดี่ยวแคนในสายต่างๆเพื่อสร้างบรรยากาศ ( ไม่เน้นการบรรเลงครบวงที่มีเสียงดังเกินไป )
05.45 น.
- พิธีพราหมณ์ ( ประมาณ 10 นาที )
05.55 น.
- พิธีกรกล่าวเชิญชวนนับถอยหลังสู่เวลาที่ตะวันขึ้น ณ ด้านตะวันออกสุดของประเทศไทย
06.01 น. ( หรือตามเวลาที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ )
- รัวกลองเส็งพื้นบ้านอุบล 1 คู่ ฆ้องใหญ่ 1 ใบ ( 15 วินาที )
- ประธานในพิธีการดับแสงกระถสงไฟบนแท่นสัญลักษณ์
- นิมนต์พระสงฆ์เข้าประจำจุดบิณฑบาตร / พิธีตักบาตรและรับพรพระ
- สิ้นสุดพิธีการและกิจกรรม
หมายเหตุ : แท่นสัญลักษณ์ ( ที่ไม่จัดกระถางไฟ ) ตั้งไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกตลอดเดือน มกราคม 2551
2. งานไหลโคมล่องโขงที่โขงเจียม ครั้งที่ 2 ประจำปี 2550 ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2550 ณ บริเวณดอนหินตั้ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้แนวคิดในการคิดทำโคมรูปปีนักษัตรปีกุน จำนวน 50 โคม ปล่อยล่องไปตามลำน้ำโขงในช่วงเวลากลางคืน โดยมีความเชื่อว่าหากใครจัดทำโคมปีกุน ( ปีปัจจุบัน ) และสิ่งของที่ไม่ดี หรือตัดเล็บแม่มือ เล็บเท้า ใส่ลงในโคมแล้วล่องไป ตามแม่น้ำโขงนั้น ในปีชวด (ปีถัดไป ) ชีวิตนั้นจะมีแต่ความสุขความเจริญมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการออกร้านอาหารที่เน้นใช้วัตถุดิบคือปลาจากแม่น้ำโขง โดยจำหน่าย ในราคาถูกให้แก่นักท่องเที่ยวที่ไปร่วมกิจกรรม และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง คือชาวเผ่าบรู การสาธิตและจำหน่ายสินค้า OTOP ของชาวอำเภอโขงเจียม
3. สืบสานงานประเพณีบุญคูณลาน ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2551 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเป็นการสืบสาน ส่งเสริม ดำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสาน ซึ่งประกอบด้วยการธรรมบุญกองข้าวใหญ่ที่สูงที่สุด เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวหอมอำนาจเจริญ
4. กิจกรรม Mekong Adventure Challenge ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2551 ณ ผาชนะไดพื้นที่ อบต.นาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมประกอบด้วยการแข่ง กีฬา ADVENTURE-EXTREME ผจญภัยในระดับนานาชาติ ที่จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 500-800 คน แข่งขัน มีรายการแข่งขัน ดังนี้ จักรยานเสือภูเขา จักรยานทางไกล แพยาง เรือคายัค ปีนหน้าผา และ การจัดกิจกรรมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว เช่น การจัดที่พักแบบ โฮมสเตย์ การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว การจัดแสดงสินค้าพื้นบ้านของชุมชนต่าง ๆ
แพ็คเกจทัวร์นำร่อง 4 เส้นทาง
ทัวร์นำร่องที่เสนอขายในช่วงงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่น้ำโขง โดย ททท. ร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นำเสนอโปรแกรมเส้นทางวันเดียวเที่ยวสนุก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดทั้ง 2 เดือน โดยชูโปรแกรมท่องเที่ยว ในรูปแบบใหม่ 4 เส้นทาง Concept ในราคาคนละ 699 บาท ประกอบด้วย
1. ล่องโขงส่องตะวันที่ผาแต้ม ทุกบ่ายวันเสาร์จะพาไปฟังเสียงขลุ่ยแสนไพเราะที่แก่งตะนะ ล่องเรือในบรรยากาศแสนโรแมนติกที่โขงเจียม ก่อนจะชวนไปส่งตะวันชิมพาแลงริมโขงที่ผาแต้ม
2.ตามรอยหลวงปู่มั่นไปกราบพระริมโขง ชวนเลียบโขงไปกราบพระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์ เมือง เขมราฐ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อวัดปากแซง ชมปากบ้องช่องแคบแม่น้ำโขงที่สองคอนและจบโปรแกรม ด้วยกิจกรรมเวียนเทียนที่ภูหล่น ณ จุดที่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นฝึกปฎิบัติวิปัสสนาร่วมกันก่อนจะแยกย้ายออกธุดงค์ ณ ที่ต่างๆ
3.ห้องเรียนศิลปกลางแจ้ง ชุด " แต้มสีแม่น้ำโขง " เสนอเส้นทางพาลูกไปวาดรูปที่ชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธร แก่งตะนะ และทุ่งดอกไม้งามตามรอยเสด็จที่น้ำตกสร้อยสวรรค์
4.ห้องเรียนศิลปกลางแจ้ง ชุด " ปั้นเทียนปั้นดินที่เมืองเดชอุดม " เสนอเส้นทางพาลูกไปชมศิลปะทำเทียนหอมเมืองเดชฯ วัดป่าไทรงาม ฝึกเขียนภาพไทยที่บ้านปลาขาวและทำงานศิลปะที่ศูนย์ศิลป์บ้านกระบวย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันเฉียงเหนือ เขต 2 เลขที่ 264/1 ถ.เขื่อนธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000 โทร. 0 4524 3770 โทรสาร 0 4524 3771 เว็บไซต์
www.tatubon.org หรือ
www.guideubon.com