เป็นข่าวพาดหัวตัวไม้บ่อยขึ้นในระยะไม่กี่เดือน สำหรับเหตุ การณ์ “รถยนต์ไฟไหม้” ทั้งไฟลุกเพียงเล็กน้อยไปจนถึงลุกโชน เผาผลาญรถหรูให้กลายเป็น “เศษเหล็ก” เดชะบุญบางรายรอดตายหวุดหวิดขณะที่อีกหลายคนกลับถูกกองเพลิงคลอกอย่างอนาถ
ผู้เคราะห์ร้ายพอเจอเหตุการณ์เช่นนี้ได้แต่ยืน “อึ้งกิมกี่” หยิบจับอะไรไม่ถูก อาจจะเป็นอย่างที่เขาว่า “ตั้งสติก่อนสตาร์ต” แต่ก่อนสตาร์ตควรตรวจความพร้อมของเครื่องยนต์และส่วน ต่าง ๆ เสียก่อน ยิ่งรถเก่า ซึ่งมีวี่แววประสบกับปัญหา อย่าได้นิ่งนอนใจเพราะแทนที่จะเสียเงินค่าซ่อมแต่ต้องเสียรถไปทั้งคัน ถึงจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็มีความสุ่มเสี่ยงไม่แพ้กัน
ครั้นเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับตัวมัวรอ “พระเอกขี่ม้าขาว” มาช่วยคงไม่ทันการหันมาพึ่ง ตนเองกันก่อนดีกว่า...ผศ.ดร.ก่อเกียรติ บุญชูกุศล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า การเกิดไฟไหม้ของรถยนต์เกิดจากปัจจัยนอกระบบเครื่องคือ ตัวถังภายนอกได้รับการกระทบกระเทือนจนเกิดประกายไฟทำให้เชื้อเพลิงปะทุ ด้านปัจจัยภายในเกิดจากความร้อน, เชื้อเพลิง, ประกายไฟ ซึ่งเมื่อปัจจัยเหล่านี้เอื้ออำนวยต่อกันย่อมทำให้เกิดเพลิงไหม้
ส่วนใหญ่รถที่เป็นปัญหาคือ รถรุ่นเก่า ผ่านการปรับแต่ง เป็นผลจากบางครั้งช่างใส่อะไหล่รถที่ไม่มีคุณภาพมาหรือต่ำกว่ามาตรฐานเดิม เช่น ใช้สายไฟต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดเพื่อลดต้นทุนการทำงาน ทำให้พอใช้ไปเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือบางชิ้นส่วนมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าของเดิมเป็นผลให้เกิดการเสียดสีกับชิ้นส่วนอื่นจนเป็นประกายไฟ และเมื่อผนวกกับความร้อนและเชื้อเพลิงทำให้เครื่องยนต์ไหม้
ด้านรถใหม่ ซึ่งใช้มา ระยะเวลาหนึ่งอาจเกิดเพลิงไหม้ได้ เนื่องจากเจ้าของไม่ดูแลระบบภายในส่วนต่าง ๆ เช่น หม้อน้ำ ที่ปล่อยไว้จนแห้งทำให้หม้อน้ำระเบิดแล้วไฟถึงไหม้ลุกลามไปถึงเครื่องยนต์และส่วนอื่น ขณะเดียวกันถังเชื้อเพลิงมีส่วนสำคัญกระตุ้นให้เกิดประกายไฟ เนื่องจากอาจเกิดการปิดฝาไม่สนิท, มีรอยแตกร้าวบริเวณฝาหรือถังน้ำมัน
“การเกิดไฟไหม้รถยนต์ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เหมาะสมซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องราวซับซ้อนกว่าจะพิสูจน์ได้ เช่น เมื่อครั้งมีเหตุการณ์รถบัสไฟไหม้มีคนถูกไฟคลอกตายพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเพลาขาดแล้วเศษชิ้นส่วน ไปกระแทกกับถังน้ำมันขณะรถวิ่งซึ่งคนขับรถพยายามเบรกแต่เบรกแตกทำให้เชื้อเพลิงกระทบกับความร้อนจากท่อไอเสียจึงเกิดไฟลุกท่วมกลายเป็นโศกนาฏ กรรมที่น่ากลัว”
ผศ.ดร.ก่อเกียรติ แนะนำถึงการสังเกตหากเกิดเพลิงไหม้ในรถว่า ส่วนใหญ่มักเกิดตอนที่รถกำลังวิ่งอยู่ ซึ่งต้องพยายามดูบริเวณกระโปรงหน้าของรถเพราะเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์และ สายไฟซึ่งเป็นตัวนำไปสู่การเกิดประกายไฟ หรือหากรถบางรุ่นที่มีตัววัดอุณหภูมิก็เป็นเครื่องช่วยอย่างหนึ่งให้ผู้ขับสังหรณ์ใจว่า หากมีอากาศร้อนเกินไปอาจเกิดความผิดปกติของเครื่องยนต์
หากเกิดการไหม้บริเวณกระโปรงหลังรถซึ่งส่วนใหญ่จะได้กลิ่นควันไฟเร็วกว่าเกิดไฟไหม้ ในส่วนอื่น ขณะเดียวกันหากขับรถไปเกิดอาการเครื่องยนต์กระตุกก็อาจมีผลได้ เนื่องจากถังน้ำมันอาจเกิดรั่วเพราะเมื่อเครื่องกระตุกก็เหมือนกับมีอากาศเข้าไปในตัวถังทำให้เครื่องยนต์เกิดการเผาไหม้ไม่สม่ำเสมอ
ตลอดจนต้องหมั่นเปิดกระโปรงหน้ารถดูบนเครื่องยนต์ว่า มีเขม่าดำเกาะอยู่หรือไม่ หากมีแสดงว่าอาจมีชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไม่สมบูรณ์ต่อการใช้งาน พยายามดูบริเวณใต้ท้องรถและพื้นที่จอดว่ามีน้ำมันหยดหรือไม่หากมีควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน หมั่นสังเกตว่าน้ำมันหมดเร็วหรือไม่เพราะน้ำมันเครื่องอาจจะรั่วได้
ดังนั้นการขับรถควรมีสติอยู่เสมอเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือเกิดการไหม้ของเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ต้องดับเครื่องทันทีเพื่อตัดสัญญาณไฟ ขณะเดียวกันรถ แต่ละคันควรมีถังดับเพลิงขนาดเล็ก ไว้ข้างคนขับเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่บางคนมีถังดับเพลิงก็จริงแต่เก็บไว้ท้ายรถซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นยากแก่การนำออกมาใช้ แต่หากเกิดการลุกไหม้เพียงเล็กน้อยสามารถนำผ้าแห้งหรือผ้าที่เปียกน้ำมาตบ ๆ บริเวณเกิดไฟไหม้ได้
“อากาศร้อนอาจมีผลให้เกิดประกายไฟได้ในบางกรณี แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะต้องมีปัจจัยอื่นมาสนับสนุนให้เกิดประกายไฟ เช่น การเสียดสีของเหล็กบางตัวที่อยู่ในตัวรถ ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้รถสามารถเกิดได้กับรถทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ”
รถมือสองถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างสูง ซึ่งบางครั้งผู้เลือกซื้อควรพาเพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญไปดูรถด้วยเพราะบางคันเจ้าของเก่าอาจดัดแปลงจนเสียหาย แล้วนำมาแต่งใหม่โดยนำวัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานมาใส่แทน ผู้ซื้อจึงจำเป็นต้องตรวจดูเบื้องต้นบริเวณเครื่องยนต์ว่าสายไฟได้มาตรฐานและไม่มีน้ำมันรั่วซึม ขณะเดียวกันเมื่อสตาร์ตรถต้องไม่มีอาการเครื่องกระตุกเพราะนั่นแสดงว่าเครื่องยนต์ทำงานไม่เป็น ปกติส่งผลอันตรายหากเครื่องยนต์ขัดข้อง
การนำรถไปเช็กสภาพเป็นประจำเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดอาการเครื่องยนต์ขัดข้อง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่
ดังนั้นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้เพราะเมื่อถึงเวลานั้นคุณอาจ...งงงง.
10 กลเม็ดก่อนขับรถยนต์ 1. ตรวจความดันลมยาง ดอกยาง และรอยฉีกขาด
2. ดูว่ามีร่องรอยน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก หรือ น้ำรั่วซึมจากใต้ท้องรถ
3. ดูไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยวหรืออื่น ๆ รวมทั้งระดับไฟหน้าด้วยว่าเป็นปกติทั้งหมด
4. แผงควบคุมและอุปกรณ์ดูให้แน่ใจว่าทำงานปกติ ที่ปัดน้ำฝน ปัดได้เรียบร้อยสม่ำเสมอ
5. ระดับน้ำหล่อเย็น ควรมีอยู่ถึงระดับสูงสุดในถังพักสำรอง
6. หม้อน้ำและท่อยาง ควรดูว่าด้านหน้าหม้อน้ำหมดจดไม่มีเศษวัสดุ หรือใบไม้ติดอยู่ ดูท่อยางว่ามีรอยแยกเปื่อย มีรอยฉีกขาดหรือหลวม
7. สายพานขับต่าง ๆ ต้องไม่มีรอยแตก เลอะน้ำมันหล่อลื่น และความตึงสายพานอยู่ในค่ากำหนด
8. แบตเตอรี่และสายไฟ ตรวจดูและเติมน้ำกลั่นให้ได้ ระดับที่กำหนดดูเปลือกแบตเตอรี่ว่ามีร่องรอยเสียหายหรือไม่ ดูขั้วต่อและสายไฟว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่
9. ระดับน้ำมันเบรกและคลัตช์ ตรวจดูว่าระดับน้ำมันเบรกและคลัตช์อยู่ในระดับที่ถูกต้อง
10. ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจดูว่าท่อน้ำมันมีการรั่ว หลุดหรือไม่
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก
เดลินิวส์