ส่วนภาพแรกที่ ผมนำมาลงนั้นเป็น กระโถนฤาษี ครับ บางที เรียก กระโถนพระราม
กระโถนฤาษี คือหนึ่งในความพิศวงที่ธรรมชาติสร้างขึ้นให้ดำรงชีวิตอยู่ในผืนป่าเขตร้อนแห่งนี้ และน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้พบเห็น กระโถนฤาษี ตามผืนป่า สาเหตุก็เพราะมันเป็นไม้กาฝากที่อาศัยอยู่ตามรากพืช ซึ่งเราจะพบเห็นได้ก็ต่อเมื่อมันผลิดอกออกมาเพื่อสืบพันธุ์เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นเพียง ระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์และคงจะไม่ผิดอะไร หากจะมีคนกล่าวว่า กระโถนฤาษี มีความลึกลับและซับซ้อนที่สุดในการดำรงอยู่ในป่าเขตร้อน
กระโถนฤาษี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sapria himalaya อยู่ในวงศ์เดียวกับบัวผุดครับ กระโถนฤาษี เป็นไม้กาฝากที่อาศัยอยู่ตามรากไม้ของพืชเถาวัลย์จำพวก เครือเถาน้ำ โดยแทง เนื้อเยื่อในส่วนที่เป็นเส้นใยเข้าไปในรากของพืชอาศัยเพื่อดูดกินอาหารจากท่อลำเลียงของรากพืชอาหารเหล่านั้น เมื่อถึงระยะผสมพันธุ์ ตาดอกจะเริ่มพัฒนาอยู่ในส่วนของพืชอาศัยแล้วค่อย ๆ ตูม โผล่ขึ้นมาบนพื้นดิน โดยออกเป็นดอกเดียวหรืออาจเป็นกลุ่ม เมื่อดอกบานดอกจะมีลักษณะคล้ายถ้วยใบใหญ่ ๆ หรือคล้ายกระโถนปากแตรซึ่งเป็นที่มาของชื่อ " กระโถนฤาษี " กลีบดอกมีทั้งหมด 10 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น โดยมีชั้นละ 5 กลีบ (บัวผุดมีเพียงชั้นเดียวจำนวน 5 กลีบ) ปลายกลีบเว้า กลีบมีสีแดงสดและมีจุดประสีเหลืองกระจายอยู่บนกลีบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกบานประมาณ 10-15 ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ตรงกลางของช่องเปิดมีขนสั้น ๆ ล้อมรอบ ลึกลงไปใต้ช่องเปิดมีขนสีแดงคล้ายกำมะหยี่จำนวนมากเรียงตามยาว อวัยวะส่วนแผ่นกลางของดอกทางด้านบนมีก้านคล้ายหนามส่วนทางด้านล่างจะเป็นที่ตั้ง ของเกสรเพศผู้ ดอกมีเพศเดียว สำหรับในดอกเพศเมียนั้น อวัยวะส่วนกลางของดอกจะหนากว่าดอกเพศผู้และจะมีปลายยื่นออกมาตรงตำแหน่งเดียวกับที่ตั้งเกสรเพศผู้ ระยะการออกดอกอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนมกราคม
.....เมื่อดอกบานเต็มที่ มันจะส่งกลิ่นเหม็นยั่วยวนเหล่าแมลงต่าง ๆ โดยเฉพาะแมลงวัน เข้าสู่ใต้ดอกช่วงนี้เองที่ละอองเรณูซึ่งมียางเหนียว ๆ เคลือบอยู่จะติดไปกับตัวแมลงจากดอกเพศผู้เข้าไปผสมกับอีกดอกหนึ่งซึ่งเป็นดอกเพศเมีย เป็นอันว่าในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จกับการผสมพันธุ์ของกระโถนฤาษีและต่อจากนี้ไปยังไม่มีใครทราบว่ากระโถนฤาษีจะใช้เวลานานเท่าใด เมล็ดจึงจะสุกพร้อมที่จะขยายพันธุ์ต่อไปและที่สำคัญมีคำถามว่า "มันกระจายพันธุ์ได้อย่างไรในเมื่อพืชที่มันอาศัยต้องเป็นเครือเถาน้ำเท่านั้น"
.....กระโถนฤาษี พบได้ในป่าดิบที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีถิ่นการกระจายอยู่ทางตอนเหนือของประเทศตั้งแต่คอคอดกระขึ้นมาทางด้านตะวันตก เช่นที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทางภาคเหนือ เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง