คือช่วงนี้สมาชิกจำนวนมาก เริ่มสนใจเรื่องช่วงล่างมากขึ้น ถามหา ตามซื้อกันให้วุ่น
ผมอยากให้เข้าใจนะครับ และค่อยทำ ไม่ใช่ฟังเขามา ทำตามเขาไปนะครับ รถมันใช้งานต่างกันแบบใครก็ใช่ว่าจะเป็นแบบของคุณ เน้อ
ช็อคอับแก๊สที่ใช้กับระบบช่วงล่างรถยนต์มี 2 ระบบ1.ช็อคอับแก๊สแบบกระบอก 2 ชั้น (Twin tube)
ช็อคอับแก๊สที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นแบบกระบอก 2 ชั้น
โครงสร้างของช็อคอับแบบนี้ประกอบด้วยกระบอกช็อคอับ 2 ชั้น
1.กระบอกชั้นในทำหน้าที่รักษาแรงดันหรือความหนืด ภายในกระบอกบรรจุน้ำมันไว้และมีลูกสูบยึดติดกับแกนช็อคอับ แบ่งเป็น 2 ห้อง ด้านล่างกระบอกจะมีเบสวาล์วชะลอการไหลของน้ำมัน
- เวลาช็อคอับยุบตัว ลูกสูบจะเคลื่อนลง น้ำมันส่วนใหญ่จะถูกกดลงมาไหลผ่านเบสวาล์วไปยังกระบอกชั้นนอก
น้ำมันส่วนที่เหลือจะไหลย้อนกลับไปห้องบนเกิดเป็นแรงต้านการยุบตัวของช็อคอับ
- เวลาช็อคอับยืดตัว ลูกสูบเคลื่อนขึ้น น้ำมันในห้องบนและเบสวาล์วจะหน่วงลูกสูบไม่ให้เคลื่อนขึ้นเร็วเกินไป
ช็อคอับแบบกระบอก 2 ชั้นจะบรรจุแก๊สแรงดันต่ำที่กระบอกชั้นนอกเพื่อให้ช็อคอับมีแรงดันให้แกนช็อคอับยืดตลอด
2..ช็อคอับแก๊สแบบกระบอกชั้นเดียว (Mono tube )
โครงสร้างของช็อคอับแบบนี้ประกอบด้วย กระบอกช็อคอับ ภายในมีลูกสูบยึดติดกับแกนช็อคอับกั้นแบ่งน้ำมันเป็น 2 ห้อง และมีลูกสูบอิสระกั้นเป็นห้องบรรจุแก๊สต่างหาก เมื่อช็อคอับยุบตัว ลูกสูบเคลื่อนลง น้ำมันจะถูกดันไปกดลูกสูบอิสระที่กั้นเป็นห้องบรรจุแก๊ส เมื่อแก๊สถูกกดก็จะเกิดแรงต้านการยุบตัว แรงต้านของแก๊สจะช่วยกดให้ล้อรถแนบกับถนนตลอด
ข้อได้เปรียบของช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์
1.ขนาดลูกสูบใหญ่กว่า
ขนาดลูกสูบมีผลโดยตรงต่อความหนืดของช็อคอับ ลูกสูบขนาดใหญ่จะมีพื้นที่หน้าตัดมากจึงสามารถต้านการยุบตัวได้ดีกว่า(หนืดกว่า)ลูกสูบขนาดเล็ก ด้วยโครงสร้างแบบกระบอกชั้นเดียวของช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์ ลูกสูบจึงมีขนาดใหญ่กว่าช็อคอับแก๊สแบบทวินทิวบ์ และมีปริมาตร(ความจุ)มากกว่าสามารถบรรจุน้ำมันได้มากกว่าซึ่งจะมีผลโดยตรงคือทนทานต่อการใช้งานหนักโดยน้ำมันไม่สูญเสียค่าความหนืด
2.โครงสร้างแบบแยกห้องแก๊สกับน้ำมัน ช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์จะแยกห้องแก๊สออกจากน้ำมันโดยใช้ลูกสูบอิสระ(Floating Piston) ตัดปัญหาน้ำมันผสมกับแก๊สเมื่อช็อคอับทำงานหนักมากและสามารถอัดแก๊สแรงดันสูงได้
นอกจากนี้ช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์ยังสามารถติดตั้งแบบหัวกลับได้ซึ่งช็อคอับแก๊สแบบทวินทิวบ์ไม่สามารถทำได้
- ช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์แบบหัวกลับ (Inverted Monotube Shock absorber)
ช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์แบบหัวกลับ(Inverted Monotube Shock absorber) คือช็อคอับแก๊สโมโนทิวบ์ที่ติดตั้งแบบคว่ำแกนลง(ช็อคอับหัวกลับหรืออัพไซด์ดาวน์) การติดตั้งช็อคอับแบบหัวกลับเป็นการย้ายห้องแก๊สขึ่นมาอยู่ด้านบนซึ่งจะมีผลดีคือ
1.ห้องแก๊สอยู่ด้านบนช่วยต้านการยุบตัวของช็อคอับได้ดีและตอบสนองต่อแรงกระทำไวกว่าช็อคอับระบบทวินทิวบ์ ช็อคอับระบบโมโนทิวบ์จึงยุบตัวน้อยทำให้รถมีอาการเอียง-โคลงน้อย โดยไม่จำเป็นต้องใช้สปริงแข็ง
2.ห้องน้ำมันอยู่ด้านล่าง ยุบตัวได้ง่ายกว่าจึงสามารถซับแรงกระแทกสภาพถนนได้ดีกว่าช็อคอับแก๊สทั่วไป ดังนั้นช็อคอับแก๊สแบบหัวกลับสามารถเซ็ทค่าความหนืดให้สูงกว่าช็อคอับแก๊สทั่วไปได้โดยไม่สูญเสียคุณสมบัติในการซับแรงกระแทก
รถที่ติดตั้งช็อคอับระบบโมโนทิวบ์จึงมีการบังคับควบคุมดี ช่วงล่างหนึบแน่นกว่าโดยที่ช่วงล่างไม่กระแทกสะเทือนเหมือนช็อคอับระบบทวินทิวบ์
โครงสร้างของช็อคอับแก๊สแบบหัวกลับจะมีกระบอกช็อคอับโผล่ออกมาจากเสื้อช็อคอับชั้นนอก ขณะที่แกนช็อคอับถูกคว่ำลง น้ำหนักของช็อคอับส่วนใหญ่จะอยู่ด้านบนซึ่งจะมีผลโดยตรงกับการลดน้ำหนักใต้สปริง(Unsprung Weight)
น้ำหนักใต้สปริง(Unsprung Weight) คือน้ำหนักหรือมวลของชิ้นส่วนประกอบช่วงล่างทั้งหมด เช่น ล้อ เพลา อาร์มช่วงล่าง จานเบรค รถยนต์ที่มีน้ำหนักใต้สปริงเยอะจะมีการบังคับควบคุมไม่ดีและระบบช่วงล่างจะกระด้าง-สะเทือนมาก เนื่องจากน้ำหนักที่มากทำให้ชิ้นส่วนช่วงล่างมีแรงเฉื่อยขณะเคลื่อนที่สูง ความสามารถในการยึดเกาะถนนจะลดลง รถยนต์ที่มีน้ำหนักใต้สปริงมากแต่อยากปรับปรุงสมรรถนะช่วงล่างก็ต้องเพิ่มความแข็งของสปริงและความหนืดช็อคอับให้สูงขึ้น ซึ่งต้องแลกกับอาการสะเทือนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
รถยนต์ระดับไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับน้ำหนักใต้สปริงเพื่อให้สามารถเซ็ทช่วงล่าง
ให้มีสมรรถนะสูงสุดได้โดยไม่กระด้าง-สะเทือน การลดน้ำหนักของระบบช่วงล่างทำได้โดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุน้ำหนักเบาผลิตชิ้นส่วนประกอบ เช่น ปีกนกอลูมิเนียม
ช็อคอับแก๊สแบบหัวกลับก็เป็นวิธีการลดน้ำหนักใต้สปริงวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในรถยนต์ชั้นสูง เช่น Lotus Elise ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดรถยนต์ที่มีการบังคับควบคุมดีมากก็ใช้ช็อคอับแก๊สแบบหัวกลับทั้ง 4 ล้อ
ข้อเสียของช็อคอับแก๊สแบบหัวกลับคือราคาแพงเพราะต้องใช้วัสดุคุณภาพสูงและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต ราคาของช็อคอับแก๊สแบบหัวกลับพร้อมสตรัทปรับเกลียวแบรนด์ดังๆที่ขายในประเทศไทย ราคาชุดละ 7-80,000 บาทซึ่งราคาขนาดนั้นคุณต้องจ่ายเป็นค่าการตลาดและภาษีนำเข้าประมาณ 50% ขึ้นไป
บทความนี้คัดลอกมาจากเวป ออโต้พาสเซ็นเตอร์ครับ ลองอ่านดูจะได้เข้าถึงนะครับ