โรคในรถ คุณเป็นไหม (ชีวจิต)1.
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คุณนริณีนาฏ จันทภุชงค์เดชา พนักงานบริษัทเอกชน วัย 37 ปี ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานในขณะขับรถ เพราะต้องเผชิญกับปัญหารถติดระหว่างเดินทางจากบ้านไปทำงานทุกวัน และบางพื้นที่ไม่มีปั้มน้ำมันให้เข้า
อาการ : " พอเจอห้องน้ำจะรีบเข้าแต่ก็รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่ออก รู้สึกขัดๆ และปวดมากเหมือนปัสสาวะไม่สุด มีอาการแบบนี้เป็นปีนะคะ เพราะใช้เวลาอยู่ในรถประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน” ปัจจัยเสริมก่อโรค “บางทีทำงานเพลินๆ กำลังคิดอะไรอยู่ก็ยังไม่เข้าห้องน้ำทันที ก็ยอมอั้นไว้จนเป็นนิสัยที่ไม่ดีติดตัว อั้นในรถไม่พอยังมาอั้นในที่ทำงานอีก"
การรักษา : " คุณหมอให้ยามากิน และให้ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาทำงาน เพื่อให้เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น ช่วงแรกต้องไปพบหมอเป็นประจำจนกว่าอาการจะดีขึ้น"
Tip : การดูแลตัวเอง เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่อั้นปัสสาวะ เข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ
ถ้ามีอาการเจ็บหน่วงๆ ต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อเข้าห้องน้ำล้างปัสสาวะที่อักเสบออกมา
ย้ายที่พักมาอยู่ใกล้ที่ทำงานมากขึ้นเพื่อเลี่ยงรถติด
2.
ผังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ คุณนริณีนาฏยังประสบปัญหาเป็นผังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือซ้าย ซึ่งเกิดจากการขับรถเป็นเวลานานๆ
อาการ : "ตอนที่ขับรถนานๆ มือจะอยู่ที่พวงมาลัยนานมาก เลือดคงไหลเวียนไม่ดีเหมือนเส้นเลือดตีบ แทนที่จะปล่อยลงข้างลำตัว ก็ทำตรงกันข้ามโดยการยกมือขึ้นขับรถ นั่งอยู่ท่าเดียวนานๆ ทำให้มีอาการชาไปครึ่งตัวขณะรถติด" ถามว่าอันตรายไหม ถ้าต้องขับรถขณะมีอาการก็อันตรายมาก
ปัจจัยเสริมก่อโรค : "งานที่ทำประจำต้องนั่งอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์พิมพ์งานตลอดเวลา และนั่งท่าเดียวนานๆ เลยส่งผลให้ปวดมาก คนที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีอาการแบบนี้เยอะ ตอนที่คุยกับคุณหมอบอกว่ามักจะเกิดกับคนที่อายุเกิน 40 ทั้งที่อายุยังไม่ถึงดิฉันก็เป็นแล้ว อาจเพราะใช้ร่างกายหนัก ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน"
การรักษา : "ทำท่ากายภาพบำบัดเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน เพื่อให้เส้นเลือดสูบฉีด และระบบไหลเวียนในร่างกายเราดีขึ้น"
Tip : การดูแลตัวเอง ฝึกโยคะเป็นประจำ
ถ้าจะหยิบของที่เบาะหลังรถไม่ควรเอี้ยวตัว เพราะอาจทำให้ผิดท่าและเส้นเอ็นพลิกได้ควรเปลี่ยนมาเปิดประตูรถด้านหลังแล้วหยิบของ
การหยิบของจากที่ต่ำไม่ควรก้มตัวยก แต่ควรนั่งลงแล้วค่อยๆ ยกขึ้น
ช่วงที่อากาศเย็นจะทำให้มีอาการปวดมากกว่าปกติ ต้องดูแลให้ร่างกายอบอุ่น อาจทายาหม่อง หรือปาล์มเพื่อเพิ่มความอบอุ่น
3.
หมอนรองกระดูกเสื่อม คุณวัฒนา ศรีศุภร เจ้าของกิจการ วัย 60 ปี ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หลังจากขับรถส่งของในระยะทางไกลเป็นเวลานานหลายปี
อาการ : " แรกๆ ก็ปวดหลังนิดหน่อย และรู้สึกเหมือนร้าวลงขาทั้ง 2 ข้าง ข้างซ้ายมากกว่าขวา ยืนนานๆ ขาจะชา ถ้ายังฝืนยืนอยู่อีก ก็จะมีอาการชาขึ้นๆ จนกระทั่งรู้สึกเหมือนขาลอยได้ จำไม่ได้ว่ามีอาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เริ่มมีอาการตั้งแต่ขับรถส่งของ และนอกจากนี้ยังมีอาการ เอวคด คดไปด้านขวา เวลาเดินเห็นชัดเลย จะเดี้ยงไปข้างหนึ่ง จนเพื่อนๆ สังเกตเห็น"
ปัจจัยเสริมก่อโรค : "ตอนเริ่มกิจการดิฉันทำงานทุกอย่างเองหมด ทั้งขับรถและขนของ ยกของหนักมากไม่ประมาณตน เอี้ยวตัวผิดจังหวะก็เลยทำให้ยิ่งมีอาการปวดมาก และเคยตกจากที่สูงจนกระดูกยุบ"
การรักษา : "ตัดสินใจไปทำไคโรแพกติก หลังเสร็จจากการจัดกระดูกก็ค่อยๆ ดีขึ้น มีโอกาสก็จะไปตอนนี้ทำเกือบ 20 ครั้งแล้ว ด้วยความที่เรายังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม คือขับรถ เลยยังไม่หายขาด ต้องดูแลตัวเองไปเรื่อยๆ"
Tip : การดูแลตัวเอง เล่นเทนนิสเป็นประจำ แต่ไม่ควรเล่นหนักเกินไป ควรออกแรงเบาๆ (ไม่ควรหยุดออกกำลังกายเพราะจะทำให้เส้นเอ็นยึด)
ยืน โน้มไปข้างหน้าเล็กนิด ถ้าต้องเดินนานๆ ควรหยุดพักก้มตัวลงเป็นการยืดเส้น ถ้าเดินตามห้างสรรพสินค้าอาจเกาะรถเข็นทิ้งน้ำหนักไปที่รถเพื่อให้เดินได้ นานโดยไม่มีอาการชา
ทำกายภาพทุกวัน วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ด้วยท่าดังนี้
ท่านอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น แล้วยกตัวขึ้นเล็กน้อยเกร็งหน้าท้องไว้นับ 1-10 ทำประมาณ 10 ครั้ง
ท่านอนนอนคว่ำ ศอกทั้งสองข้างตั้งฉากกับพื้น ปลายเท้าจิกทำเป็นมุมฉาก ยกตัวขึ้นแล้วแขม่วท้องเกร็งไว้นับ 1-10 ทำประมาณ 10 ครั้ง
4.
กล้ามเนื้อคออักเสบ คุณณิษฐา สุริยะฉาย นักศึกษาปริญญาโท วัย 30 ปี มีอาการกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ เนื่องจากขับรถในท่าเดิมนานๆ ติดต่อกันหลายวัน
อาการ : "วันแรกๆ จะมีอาการปวดบ่าทั้งสองข้างก่อน เพราะตอนที่ขับ มือก็จะจับพวงมาลัยแน่นทั้งสองข้าง ตอนรถติดจะเครียดมากจนไม่ยอมปล่อยมือ เกร็งไว้ตลอดเวลา ถ้ารถขยับก็จะรีบขยับตาม เผอิญช่วงนั้นมีสอบทุกวัน ต้องขับรถไปมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นย่านที่รถติดมาก เข้าวันที่สี่ตื่นขึ้นมารู้สึกปวดคอมากปวดร้าวไปถึงบ่า แขน และมือชา คอหันไม่ค่อยได้เลยทำให้ขับรถไม่ได้"
ปัจจัยเสริมก่อโรค : "ก่อนหน้านี้ไปหัดตีกอล์ฟกับคุณพ่อ ด้วยความที่ยังออกท่าไม่ค่อยเป็นเลยทำให้หันคอผิดท่า ตอนนั้นก็รู้สึกเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร พอมาขับรถก็เลยยิ่งปวดมาก"
การรักษา : "คุณหมอให้กินยาคลายกล้ามเนื้อ และใส่เฝือกอ่อนที่คอชั่วคราวเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวคอน้อยที่สุด ประมาณ 3-4 วันอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้น"
Tip : การดูแลตัวเอง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ขณะรถติดควรบริหารคอด้วยการหันซ้ายขวาสลับกับก้มหน้าเงยหน้า
ไม่ควรเอี้ยวคอกะทันหันระหว่างขับรถ เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุหันคอผิดท่า
5.
หลับใน และตาเมื่อยล้า คุณฤนพ สถิรรัตน์ วิศวกร วัย 36 ปี มักมีอาการหลับในจนเกิดอุบัติเหตุ และตาเมื่อยล้า เมื่อขับรถในเวลากลางวันที่มีแสงแดดจ้าเป็นเวลานานๆ
อาการ : "ผมขับรถเพื่อติดต่องานมาประมาณ 1 ปี ในสัปดาห์หนึ่งขับรถ 4 วัน ทั้งกลางวันและกลางคืน และบางวันก็ต้องขับรถไปต่างจังหวัดระยะทางไกล ช่วงกลางวันที่ต้องเจอแดดจ้าๆ มักมีอาการตาอ่อนล้า และแสบตา ทำให้มองไม่ถนัดเวลาที่ขับรถ และมีอาการหลับในตอนกลางคืน เมื่อก่อนไม่รู้ว่าหลับในเป็นอย่างไร ตอนนี้รู้แล้วและอันตรายมาก ตอนแรกจะหาวถี่ สมองเริ่มมึน ไร้สติ ไม่มีสมาธิในการขับรถ และเรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นในกิจวัตรจะเข้ามาในหัวโดยไม่รู้สึกตัว"
ปัจจัยเสริมก่อโรค : "แต่ละครั้ง วันที่เดินทางผมไม่ มักนอนน้อยเป็นประจำ"
การรักษา : " ช่วงที่มีอาการแสบตา ตาเมื่อยล้ามากๆ ผมต้องไปหาหมอเพื่อรักษา หมอก็ให้หยอดน้ำตาเทียมก็ช่วยได้มาก เพราะเราใช้สายตาเยอะ ส่วนอาการหลับใน ผมเคยลองมาหลายวิธีแล้ว ทั้งตีขาตัวเอง และเปิดกระจกขับรถ แต่ก็ไม่ได้ผล ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกคิดว่าคงไม่คุ้มกัน ผมว่าเราต้องดูแลตัวเอง"
Tip : การดูแลตัวเอง
ถ้าเริ่มง่วงให้รีบจอดรถในปั้มนอนทันที โดยสังเกตตัวเองว่าเริ่มหาวถี่แล้วหรือยัง ถ้าถี่มากๆ ต้องหยุดอย่าฝืน
เวลาที่ขับรถทางไกล ถ้ามีเพื่อนร่วมทางที่ขับรถเป็น ควรสลับกันขับ ไม่ควรขับคนเดียวตลอดทาง
6.
ระบบย่อยและระบบขับถ่ายผิดปกติ คุณเฉลิมชาติ โรจนชินบัญชร พนักงานขับรถแท็กซี่ วัย 38 ปี มีอาการของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายผิดปกติ นับจากขับแท็กซี่ได้เพียง 3 เดือน เนื่องจากต้องขับรถทุกวันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม
อาการ : "ที่มีปัญหามากๆ เลยคือเรื่องระบบย่อยอาหาร เพราะกินไม่ค่อยเป็นเวลา ต้องกินเผื่อไว้เยอะๆ เพื่อไม่ให้หิวบ่อย เพราะถ้ามีผู้โดยสารก็ต้องเอาเงินก่อน จะมาห่วงการกินไม่ได้ ทุกครั้งที่กินเสร็จก็ขับรถเลย อยู่แต่ในรถมากกว่าครึ่งวัน อาหารเลยไม่ค่อยย่อย ทำแบบนี้นานเข้ากระเพาะอาหารก็อักเสบ เพราะกินไม่เป็นเวลา นอกจากนี้ระบบขับถ่ายก็ยังไม่ดีด้วย ท้องผูกบ่อยๆ ไม่ค่อยได้เข้าห้องน้ำ บางครั้งปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำระหว่างขับรถก็เข้าไม่ได้ เพราะต้องรีบไปส่งผู้โดยสาร"
ปัจจัยเสริมก่อโรค : "ผมกินเนื้อสัตว์มาก เพราะคิดว่าจะทำให้หนักท้อง ไม่หิวบ่อย และด้วยความชอบส่วนตัวด้วย เลยทำให้อาหารไม่ย่อย และไม่ค่อยได้ออกกำลังกายด้วย"
Tip : การดูแลตัวเอง กิน อาหารประเภทผักเยอะๆ ถ้าหิวควรเลือกอาหารเบาๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน นอกจากจะทำให้ระบบย่อย และระบบขับถ่ายดีแล้วยังทำให้กลิ่นตัวไม่เหม็นอีกด้วย
ออกกำลังกายตอนเช้าก่อนออกไปทำงานทุกวัน เช่น กายบริหารขา เข่า ช่วยลดอาการปวดขากับเข่าระหว่างขับรถไปในตัว
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ชีวจิต และ Kapook.com